จังหวัดบึงกาฬ พุทธศาสนิกชนชาวไทย ชาวลาวร่วมทำบุญตักบาตรข้าวจี่
วันนี้ (31 ม.ค. 61) เวลา 07.00 น. ที่วัดโพธาราม บ้านท่าไคร้ ต.บึงกาฬ อ.เมืองบึงกาฬ จ.บึงกาฬ นายจำรัส กังน้อย นายอำเภอเมืองบึงกาฬ นำพุทธศาสนิกชนทุกหมู่เหล่าทั้งชาวไทย และชาว สปป.ลาว พร้อมใจกันทำบุญตักบาตรข้าวจี่ ข้าวสารอาหารแห้ง แด่พระภิกษุสงฆ์ ในวันพระขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 สืบทอดประเพณีอันดีงามของบรรพบุรุษ ในการสืบทอดพระพุทธศาสนา
สำหรับการจัดประเพณีบุญข้าวจี่ในปีนี้ โดยความร่วมมือของสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดบึงกาฬ ร่วมกับ ชาวบ้านท่าไคร้ และวัดโพธาราม เพื่อส่งเสริมและอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม ซึ่งปกติชาวบ้านจะร่วมกันทำบุญข้าวจี่ (หรือบุญเดือนสาม ที่เรียกกันตามประเพณีพื้นบ้านคนอีสาน) สำหรับบ้านท่าไคร้จะทำบุญข้าวจี่ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 เป็นประจำทุกปี พร้อมทั้งการถวายปราสาทผึ้งแด่องค์หลวงพ่อพระใหญ่ซึ่งเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดบึงกาฬและได้รับความศรัทธาไปจนถึงพุทธศาสนิกชนชาว สปป.ลาว อีกด้วย ในปีนี้วัฒนธรรมจังหวัดบึงกาฬยังได้มีการจัดประกวดข้าวจี่ขึ้นอีกด้วยและงานนี้พุทธศาสนิกชนชาวจังหวัดบึงกาฬ และพุทธศาสนิกชนชาว สปป.ลาว ต่างพากันนำข้าวสารอาหารแห้งและที่ขาดไม่ได้คือข้าวจี่ มาทำบุญตักบาตรเพื่อเป็นศิริมงคลให้แก่ตัวเองและครอบครัว
ข้าวจี่ เป็นอาหารชนิดหนึ่งของคนอีสาน อาจจะถือกำเนิดขึ้นโดยการที่ขณะที่นั่งผิงไฟในหน้าหนาว และเป็นช่วงที่เก็บเกี่ยวข้าวแล้วเสร็จใหม่ๆ โดยธรรมชาติของข้าวใหม่ก็มีกลิ่นหอมอยู่แล้ว ในขณะที่นั่งผิงไฟอยู่นั้นก็เอาข้าวเหนียวที่นึ่งแล้วมาปั้นโรยเกลือทาไข่ไก่ นำมาอังไฟหรือนำมาย่างไฟให้เกรียมก็ถือว่าสุกแล้วและรับประทานได้ เพราะโดยอุปนิสัยเนื้อแท้ของคนอีสานแล้วเป็นคนที่ขยันและช่างคิดอยู่แล้วและต่อมาได้นำข้าวจี่นี้ไปถวายพระ จนกระทั่งได้กลายมาเป็นประเพณีงานบุญข้าวจี่มาจนถึงทุกวันนี้ การทำบุญให้ทานมีข้าวจี่เป็นต้นเรียกว่า “บุญข้าวจี่” และนิยมทำกันในช่วงเดือนสาม

สำหรับมูลเหตุของเรื่องนี้มีปรากฏในหนังสือธรรมบทว่าในสมัยหนึ่งนางปุณณทาสีได้ทำขนมแป้งจี่ (ข้าวจี่) ที่ทำจากรำข้าวอย่างละเอียดถวายแด่พระพุทธเจ้าและพระอานนท์ นางคิดว่าเมื่อพระพุทธองค์กับพระอานนท์รับแล้วคงไม่ฉันเพราะอาหารที่เราถวายไม่ใช่อาหารที่ดีหรือประณีตอะไรคงจะโยนให้หมู่กา และสุนัขกินเสียกลางทางพระพุทธเจ้าทรงทราบวาระจิตของนางและเข้าใจในเรื่องที่นางปุณณทาสีคิดจึงได้สั่งให้พระอานนท์ผู้เป็นพุทธอุปัฎฐากได้ปูลาดอาสนะลงแล้วประทับนั่งฉันสุดกำลังและในตอนท้าย หลังการทำภัตตกิจด้วยขนมแป้งจี่เรียบร้อยแล้ว พระพุทธเจ้าได้แสดงธรรมให้ฟังจนกระทั่งนางปุณณทาสีได้บรรลุโสดาบัน เป็นอริยอุบาสิกาเพราะมีข้าวจี่เป็นมูลเหตุ ด้วยความเชื่อแบบนี้ คนอีสานโบราณจึงได้จัดแต่งให้บุญข้าวจี่ทุกๆ ปี ไม่ได้ขาด
‘>
แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับ " จังหวัดบึงกาฬ พุทธศาสนิกชนชาวไทย ชาวลาวร่วมทำบุญตักบาตรข้าวจี่ "