ชลประทานบึงกาฬ เปิดประตูระบายน้ำ เร่งระบายน้ำในห้วยบางบาดลงสู่แม่น้ำโขง รองรับฝนตกหนักจากอิทธิพลของพายุโซนร้อนโคะงุมะ ด้านชาวบ้านได้โอกาสออกมาดักปลา กลับไปเป็นอาหารลดค่าใช้จ่าย
เมื่อเวลา 07.00 น. วันนี้ 13 มิ.ย.64 ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดบึงกาฬว่า โครงการชลประทานบึงกาฬ บ.บังบาตร ต.ชัยพร อ.เมืองบึงกาฬ จ.บึงกาฬ ต้องเร่งระบายน้ำในห้วยบางบาด ที่คลอบคุมพื้นที่ ต.บ้านต้อง อ.เซกา ต.ชัยพร อ.เมืองบึงกาฬ โดยเปิดประตูระบายน้ำจำนวน 3 บาน ยกสูง 50 ซม. ระบายน้ำวันละ 0.236 ล้าน ลบ.ม. ให้ไหลลงสู่แม่น้ำโขง หลังระดับน้ำท้ายเขื่อนสูงขึ้นประกอบกับมีน้ำฝนไหลลงมาจากเขาภูสิงห์ และเขาภูวัว ไหลลงมาสมทบ ทำให้น้ำเริ่มท่วมพื้นที่การเกษตรของชาวบ้าน ที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำ เช่น นาข้าว สวนยาง สวนปาล์ม หวั่นสร้างความเสียหาย และเป็นการรองรับมวลน้ำก้อนใหม่จากพายุโซนร้อน “โคะงุมะ” คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนบน ในเช้าวันนี้ (13 มิ.ย. 64)
กรมอุตุพยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 80 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง บริเวณจังหวัดเลย/ หนองคาย/บึงกาฬ/หนองบัวลำภู/อุดรธานี/สกลนคร/นครพนม/กาฬสินธุ์/มุกดาหาร /ขอนแก่น/มหาสารคาม/ร้อยเอ็ด/ยโสธร/อำนาจเจริญ/ศรีสะเกษ/และอุบลราชธานี อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-32 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม.
ร่องมรสุมพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือและประเทศลาวตอนบน เข้าสู่พายุโซนร้อน“โคะงุมะ”บริเวณอ่าวตังเกี๋ย ประเทศเวียดนาม ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมในระยะนี้ไว้ด้วย สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรง โดยทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร
ส่วนบริเวณอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ เรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันตอนบนควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้
อนึ่ง พายุโซนร้อน “โคะงุมะ” บริเวณอ่าวตังเกี๋ย ประเทศเวียดนาม คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนบน ในเช้าวันนี้ (13 มิ.ย. 64) ลักษณะเช่นนี้ส่งผลทำให้ร่องมรสุมยังคงพาดผ่านบริเวณภาคเหนือตอนบนและประเทศลาวตอนบน ทำให้บริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
‘>
แสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับ " ชลประทานบึงกาฬ เร่งระบายน้ำห้วยบางบาดลงแม่น้ำโขง รับมือพายุ “โคะงุมะ” "